วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ว่านนางคำ

ว่านนางคำ

ว่านนางคำจัดเป็นว่านหลักที่นักเล่นว่านสมัยโบราณมักมีไว้ประจำครัวเรือนเสมอเนื่องจากเป็นว่านที่มีอิทธิคุณสูง และสรรพคุณทางยาก็สามารถใช้ได้มากมายอีกด้วยที่สำคัญว่านนางคำเป็นว่านที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสีท่านมักใช้อยู่เป็นประจำ โดยเมื่อเวลาที่ท่านสรงน้ำเสร็จท่านก็จะนำว่านนางคำมาทาศรีษะและตามร่างกายท่านมักทำเช่นนี้จนเป็นกิจวัตรจนเรื่องถึงพระเนตรพระกรรณ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ และพระองค์ทรงตรัสสรรพยอกว่าหัวเหลืองสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)ท่านอาจเล็งเห็นถึงคุณวิเศษที่มีอยู่ในว่านชนิดนี้ก็เป็นได้ถึงได้นำมาใช้อยู่เสมอๆ

ลักษณะของว่านนางคำจัดอยู่ในตระกูลวงศ์ขิง (Zingiberaceae) แต่มีบางท่านว่าว่านนางคำอยู่ในตระกูลพุทธรักษา ซึ่งอาจเป็นการเข้าใจผิดโดยอาจใช้มติของตัวเอง แล้วสรุปเอาตามความเข้าใจจึงขอบอกกล่าวกันไว้เพื่อป้องกันการสับสนครับ ลักษณะหัวเป็นแง่งกลมอวบใหญ่เนื้อในหัวสีเหลืองจัด มีกลิ่นหอมเย็น รสฝาดลำต้นมีลักษณะเป็นกาบใหญ่หุ้มรัดเป็นลำค่อนข้างแบนสีเขียว ก้านใบยาวแข็งใบใหญ่สีเขียวเข้ม เส้นแขนงนูนถี่เห็นได้ชัด โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลมกระดูกและขอบใบสีแดงเรื่อๆ เฉพาะใบแก่ เป็นพืชล้มลุกเจริญในฤดูฝนและทิ้งใบฝังหัวในฤดูแล้ง

การเลี้ยงว่านต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของว่านด้วยในกรณีของว่านที่ทิ้งใบฝังหัวเมื่อพ้นหน้าฝนนั้น หลายท่านไม่เข้าใจคิดว่าว่านตายก็นำหัวไปทิ้ง ซึ่งถ้าว่านฝังหัวก็ไม่ต้องตกใจจากเดิมการรดน้ำในตอนที่ว่านมีใบนั้นให้รดจนชุ่มแต่ถ้าทิ้งใบเหลือแต่หัวการรดน้ำต้องรดเพียงแค่หมาดๆ หากไปรดมากๆเหมือนตอนมีใบก็อาจทำให้หัวว่านเน่าได้ครับ


ในตำราของอาจารย์หล่อขันแก้ว ปรมาจารย์แห่งวงการว่านไทยท่านกล่าวไว้ว่าว่านนางคำนั้นมี ๓ ชนิดคือ
ชนิดที่ ๑
มีลักษณะ ลำต้นแดง ก้านใบแดง ใบเรียวสีเขียว หัวมีเนื้อเป็นสีเหลืองดังหัวขมิ้นเน่า

ชนิดที่ ๒
มีลักษณะ ลำต้นเขียว ใบเขียวเนื้อในหัวมีสีขาว

ชนิดที่ ๓ต้นเขียว กลางใบแดงเนื้อในหัวมีสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอม รสฝาด ใบโตขนาดใบว่านคันทมาลาในชนิดหลังนี้หาง่าย เป็นที่นิยมมีปลูกกันทั่วไปเป็นชนิดที่แพทย์แผนโบราณนำมาเป็นยา

ประโยชน์ผู้รู้แต่โบราณนับถือกันมากว่า ว่านนางคำถือเป็นพญาว่านต้นหนึ่งเช่นกันเนื่องจากสามารถคุ้มครองและแก้พิษว่านทั้งปวงได้ทั้งยังเป็นว่านที่ปลูกไว้ประจำบ้าน จะเป็นเสน่ห์เมตตามหานิยมแก่คนที่อยู่ในบ้านนั้น

ทางเภสัชมักนิยมใช้หัวสดตำให้ละเอียดผสมสุราโรง๔๐ ดีกรี พอกแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก โรคเม็ดผดผื่นคันตามร่างกายมีบางตำราท่านว่านำหัวสดโขลกแช่กับน้ำมันเบนซินผสมการบูรเล็กน้อยทาแก้ฟกช้ำหรือปวดเมื่อยตามร่างกาย แต่ประเด็นหลังนี้ไม่ขอแนะนำครับเพราะผิวหนังอาจเกิดอาการแพ้น้ำมันได้ หรือหากใช้แก้อาการปวดท้อง ถ่ายท้องให้ใช้หัวสดฝนกับน้ำปูนใสกินอาการดังกล่าวจะทุเลาลง หรือจะกินหัวสดๆกับเหล้าขาวก็ได้เช่นเดียวกัน รากใช้เป็นยาขับเสมหะและใช้เป็นยาสมาน แก้โรคท้องร่วงโรคหนองในเรื้อรัง และว่านนางคำสามารถนำมาปรุงเข้ากับยาสมุนไพรอื่นๆ ได้ปัจจุบันตามร้านขายยาแผนโบราณยังคงใช้เป็นตัวยารักษาโรคเช่นเดิมสรรพคุณทางยาที่ได้กล่าวไปทั้งหมดหากท่านใดต้องการใช้ต้องปรึกษากับเภสัชกรแผนโบราณเสียก่อนนะครับเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น